โครงการ GenNX Model

โครงการ GenNX Model
 
         เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบต่อตลาดแรงงานของประเทศไทยในปัจจุบัน อาทิ ภาวะการเลิกจ้างแรงงานซึ่งมีจำนวนสูงกว่า 7 ล้านตำแหน่งแบ่งเป็นแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 2.5 ล้านคนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศประมาณ 1.5 ล้านคนและแรงงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวที่ได้รับ ผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐจากการปิดสถานที่ประมาณ 4.4 ล้านคน  นอกจากนี้บัณฑิตจบใหม่จำนวนสูงถึง 2 ใน 3 ของจำนวนนักศึกษาจบใหม่ที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน 340,000 คน ไม่สามารถหางานได้ อันเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและความต้องการในตลาดลดลง  อีกทั้งโครงสร้างธุรกิจอย่างที่เปลี่ยนไปมีการดำเนินธุรกิจที่พึ่งตลาดท้องถิ่นและเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้นมีการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติทำให้แรงงานมีความจำเป็นต้องพัฒนาทักษะของตนให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและลดความเสี่ยงของการตกงานอันจะเป็นผลจากวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

          สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ รวมถึงจัดการศึกษาตลอดชีวิต และบูรณาการงานด้านอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดสู่กลุ่มเป้าหมายและยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และโอกาสในการพัฒนาทักษะการทำงานให้กับกำลังคนในช่วงสถานการณ์วิกฤตินี้ จึงจะดำเนินโครงการพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการของประเทศในรูปแบบ GenNX Model ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาทักษะการทำงานผ่านการฝึกอบรมระยะสั้นแบบเข้มข้น (Bootcamp) ที่มีการปรับรูปแบบการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของประเทศไทย

          กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานปลัดกระทรวง ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการของประเทศ ในรูปแบบ GenNX Model มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานแบบเข้มข้นและตรงกับความต้องการจ้างงานให้แก่ ผู้ว่างงาน/นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาให้มีความพร้อมต่อการถูกจ้างงานและบุคลากรในสถานประกอบการเพื่อยกระดับทักษะการทำงานที่ตรงกับความต้องการทักษะแรงงานของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 350 คน รวมถึงฝึกอบรมวิทยากร (Trainer) ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการฝึกอบรมเพื่อการจ้างงานโดยคัดเลือกบุคลากรจาก อาจารย์/นักวิจัยจากสถาบันการศึกษา และตัวแทนจากภาคเอกชน จำนวน 28 คน ผ่านการสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการและหน่วยฝึกอบรมในประเทศ โดยเริ่มนำร่องในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และ Healthcare ซึ่งตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยที่มีความต้องการบุคลากรของอุตสาหกรรมดิจิทัลมากกว่า 30,000 คนในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ในปี 2563 อุตสาหกรรมดิจิทัล จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 20% ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทำการสำรวจโดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 204,240 ล้านบาท คาดว่าได้รับแรงหนุนจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ที่ทำให้สังคมปรับตัวสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วขึ้น และ มีการใช้บริการดิจิทัลมากขึ้นโดยประเมินว่า มูลค่าตลาดดังกล่าวจะขยายตัวสูงกว่า 258,470 ล้านบาท ในปี 25651 และกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง มีความต้องการบุคลากรมากกว่า 15,000 คนในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งสิ้น 24 เดือน ซึ่งนอกจากเป็นการพัฒนาทักษะการทำงานให้กับกำลังคนของประเทศเพื่อให้ได้รับการจ้างงานในช่วงสถานการณ์วิกฤติแล้ว โครงการ GenNX Model ยังทำให้บุคลากรของไทยได้รับการถ่ายทอด กระบวนการพัฒนา หลักสูตรและการฝึกอบรมเพื่อการจ้างงานซึ่งเป็นการพัฒนาและยกระดับภาคการศึกษาของประเทศไทยให้มีกระบวนการผลิตบุคลากรที่ตรงตามความต้องการของประเทศได้อย่างรวดเร็ว และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป

          ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ได้แจ้งให้มหาวิทยาลัยบูรพาเตรียมความพร้อมหน่วยงานในการสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการของประเทศ ซึ่งมีลักษณะเป็นโครงการระยะยาวต่อเนื่องมากว่า 1 ปี ตามหนังสือเลขที่ อว 0223/10321 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2564 และดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงการจัดสรรเงินอุดหนุนและการส่งมอบผลการดำเนินงานภายใต้โปรแกรม 16 โครงการปฏิรูประบบ อววน. การส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรผ่านการเรียนรู้แบบปฏิบัติจริง (Experiential Learning) เรื่อง การสนันสนุนการพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการประเทศ โดยมอบหมายให้ โครงการศูนย์บริหารโครงการตามนโยบายรัฐ มหาวิทยาลัยบูรพา ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักบริการวิชาการ เป็นหน่วยบริหารจัดการโครงการดังกล่าวต่อไป
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้